ค่ายผู้นำการเปลี่ยนแปลง: เชียงดาวเมืองนิเวศการเรียนรู้

วันที่ 22-26 กุมภาพันธ์ 2567 ณ มะขามป้อมอาร์ตสเปซ และพื้นที่นิเวศการเรียนรู้ทั่วเมืองเชียงดาว

โครงการทุนการศึกษา บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมด้านการให้โอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนมากว่าสองทศวรรษ โดยเมื่อวันที่ 22-26 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา โครงการทุนการศึกษาฯ ได้จัดกิจกรรม ค่ายผู้นำการเปลี่ยนแปลง: เชียงดาวเมืองนิเวศการเรียนรู้ ขึ้น ณ มะขามป้อมอาร์ตสเปซ และนิเวศการเรียนรู้ทั่วเมืองเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีนักเรียนทุนฯ และศิษย์เก่าฯ ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรม รวม 35 คน โดยมีทีมคณะทำงานมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) เป็นกระบวนกร และใช้กรอบแนวคิด GROW Model ในการออกแบบประเด็นเนื้อหารวมถึงประสบการณ์การเรียนรู้

กิจกรรมในวันแรก วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567

กระบวนกรได้ใช้กรอบแนวคิดตัวแรก คือ G - Goal เริ่มต้นด้วยกิจกรรมตั้งเป้าหมายความคาดหวัง และตกลงกติกาในการอยู่ร่วมกัน โดยนักเรียนทุนฯ ได้ร่วมกันทบทวนเป้าหมาย ตั้งแกนชีวิต และสืบค้นเจตน์จำนงค์ที่แท้จริงในการเข้าร่วมค่าย ได้เรียนรู้เรื่องการคิด เรียนรู้ ที่ไม่ใช่แค่คิดเพื่อตัวเอง แต่คิดขยายกรอบไปสู่ชุมชน และสังคมรอบข้าง

และได้เรียนรู้การวิเคราะห์ถอดสมดุลชีวิต 6 ด้าน เรียนรู้ความสมดุลที่ไม่ได้แปลว่าต้องเท่ากัน เพราะแต่ละคนมีจังหวะชีวิตที่ต่างกัน และนักเรียนทุนฯ มีโอกาสถอดความสมดุลของชีวิตตัวเองในปีที่ผ่านมา รวมไปถึงเขียนเป้าหมายที่จะไปถึงเพื่อการพัฒนา และเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้น ทั้งหมวดการงาน การพัฒนาตนเอง การเงิน สุขภาพ ความสัมพันธ์ สิ่งที่ทำให้กับสังคม

และแลกเปลี่ยนสิ่งนั้นกับเพื่อน พร้อมเหตุผล แนวคิดในมุมสร้างให้ดีขึ้น และไม่ทำลายสิ่งนั้น

วันที่สอง วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567

เน้นไปที่การทำงานกับตัวอักษรตัวที่สอง R – Reality หรือสถานการณ์ความเป็นจริงของนักเรียนทุนฯ โดยช่วงเช้านักเรียนทุนฯ ได้เรียนรู้การสื่อสารทำความรู้จักตัวตนด้านใน โดยใช้เครื่องทำจังหวะในการสำรวจความรู้สึกของตัวเอง และมองออกไปถึงการทำความเข้าใจจังหวะของอื่น เพื่อค้นหาตัวเอง ค้นหาเพื่อนผ่านจังหวะ เราจะทำอย่างไรให้เรายังมีจังหวะเป็นของตัวเอง และสอดคล้องไปกับจังหวะของคนรอบตัว ชวนกันมองกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ว่าทำอะไรได้อีกบ้าง นอกจากสิ่งที่เราคุ้นชิน เหมือนนักเรียนทุนฯ เองที่อาจจะคุ้นชินกับตัวเองว่าทำสิ่งนี้ได้

แต่เราอาจจะยังไม่ได้ลองทำอย่างอื่นซึ่งมันอาจทำให้เกิดประโยชน์ได้ด้วยเช่นกัน



ช่วงบ่ายนักเรียนทุนฯ ได้เรียนรู้เรื่อง Generation Gap ทำความเข้าใจความหมายของช่วงวัยและกิจกรรมการสื่อสารเชิงบวก โดยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เรียนรู้ช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย เพื่อเท่าทัน เข้าใจ และยอมรับ ว่าแต่ละ Generation ผ่านอะไรมาบ้าง เพื่อศึกษาเรียนรู้เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันอย่างไม่มีการขัดแย้ง สื่อสารให้เข้าใจความรู้สึกที่ลึกถึงความต้องการ เรียนรู้ที่จะช้าลงสักนิด นึกถึงจิตใจซึ่งกันและกัน หาทางออกร่วมกัน แม้ไม่ได้มีความเชื่อเดียวกันก็ตาม

วันที่สาม และสี่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2567

เน้นไปที่การทำงานกับตัวอักษรตัวที่สาม O – Option หรือทางเลือกและแนวทางความเป็นไปได้ในชีวิต ผ่านการพาให้นักเรียนทุนฯ ลงพื้นที่พบกับผู้คนที่หลากหลาย เต็มเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจที่มีชีวิต


โดยกิจกรรม วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567

ช่วงเช้า นักเรียนทุนฯ ได้เปิดประสาทสัมผัส เพื่อรับรู้เสียง ความรู้สึก และการมองเห็น สัมผัสถึงทิศทาง การเปลี่ยนแปลง และการสังเกตุสิ่งที่แปลก ๆ จากธรรมชาติรอบตัว และชวนกันฝึกการตั้งประเด็นคำถามเพื่อสืบค้นข้อมูลที่ลึกซึ้ง และได้ลงพื้นที่ชุมชน แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้คนที่หลากหลาย ซึ่งเป็นผู้คนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจ ผู้คนผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนที่ทำให้เชียงดาวไม่ใช่แค่พื้นที่ แต่ทำให้เชียงดาวเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ที่น่าค้นหา และสามารถเติมพลังเติมศักยภาพผู้นำให้แก่นักเรียนทุนฯ ได้เป็นอย่างดี ยกตัวอย่าง เช่น


ป้าหุย แห่งสถานีเรียนรู้สตูดิโอเชียงดาวบลู นักเรียนทุนฯ จะได้สัมผัสกับผู้สูงวัยแต่ใจสู้ ผู้เริ่มต้นเรียนรู้เทคนิคการย้อมครามเมื่อตัวเองอายุอย่างเข้าวัยเลข 5 แต่สามารถพัฒนาเทคนิคการย้อมด้วยองค์ความรู้ที่บินไปเรียนไกลถึงประเทศญี่ปุ่น เรียนรู้แนวทางการทำธุรกิจจากการเริ่มต้นทำผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมคุณภาพสูง ราคาอยู่ในระดับมาตรฐานสากล รวมถึงส่งออกไกลไปขายที่ประเทศญี่ปุ่น


พี่มล แห่งกลุ่มถิ่นนิยมและสถานีเรียนรู้สวนบัวชมพู ผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์และการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ แต่ตัดสินใจเลือกที่จะทิ้งห้องแล็ปของบริษัทใหญ่ในเมืองกรุงฯ

กลับมาเปิดห้องแล็ปที่บ้านเกิด พัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเกษตรในพื้นที่ เพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรชุมชนและเพิ่มเงื่อนไขต่อรองให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิถีการปลูกให้เป็นเกษตรอินทรีย์

สร้างเครือข่ายและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรรุ่นใหม่ภายใต้ชื่อถิ่นนิยมอคาเดมี่


พี่แนน-พี่อั้ม สถานีเรียนรู้เกษตรอินดี้ คู่สามีภรรยาที่ผันตัวกลับบ้านมาทำสวนเกษตรอินทรีย์ทั้งระบบ เรียนรู้วิธีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และหาช่องทางจัดจำหน่าย ริเริ่มโครงการชุบใจช็อคโกแลค เป็นโครงการที่ช่วยรับมือกับปัญหาวิกฤตของเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ในอำเภอเชียงดาว


พี่มิ้นต์ พี่พลอย แห่งสถานีเรียนรู้คาเฟ่ Mountainella คาเฟ่ใจกลางเมืองเชียงดาว ที่เกิดจากการปรับปรุงบ้านเก่าในรุ่นพ่อรุ่นแม่ให้กลายเป็นคาเฟ่ ร้านเค้ก และร้านขนมอบพรีเมี่ยมแห่งใหม่ในอำเภอเชียงดาว


ครูออย แห่งชุมชนบ้านอีโก๋ ชุมชนที่มีความหลากหลายของ 3 ชาติพันธุ์ คุณครูที่สอนทั้งในและนอกโรงเรียน สอนให้วัยรุ่นได้เรียนวิถีวัฒนธรรมภายในชนเผ่า รื้อภูมิปัญญาที่หลงลืม

คืนชีวิตให้ชุมชน


พี่ก๋วย แห่งมะขามป้อม และอธิการบดีมหาลัยเถื่อน ผู้ที่เชื่อว่า การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่ใน การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียน


ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ทำให้นักเรียนทุนฯ ได้รับทั้งแรงบันดาลใจ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งแต่ละท่านได้เจอ ทั้งประสบการณ์ที่ยากลำบาก และการต่อสู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ทั้งการเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงในตัวเอง และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างที่ตั้งใจไว้

กิจกรรม วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567

นักเรียนทุนฯ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแง่มุมต่าง ๆ ผ่านแว่นตา หรือมุมมองทั้งในด้านธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ แล้วเชื่อมโยงมุมมองต่าง ๆ นั้นเข้าด้วยกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนกันว่า “หากมีสิ่งนี้ทำให้สิ่งนั้นยังคงอยู่ เมื่อมีสิ่งนั้นจะทำให้สิ่งนี้มีความหมายมากขึ้น” ทุกสิ่งล้วนเชื่อมโยงทำให้ชุมชนนั้นมีความพิเศษ หรือมีเอกลักษณ์มากกว่าชุมชนอื่น ๆ


นอกจากกระบวนการในห้องเรียนแล้ว นักเรียนทุนฯ ยังได้ลงพื้นที่ชุมชนบ้านป่าตึงงาม ซึ่งเป็นชุมชนปกาเกอะญอ เพื่อฝึกมองเห็นสิ่งที่ปรากฎโดยที่เราไม่ได้มองเห็นด้วยตาเห็นระบบความสัมพันธ์ของชุมชนที่อยู่ภายใต้ภูเขาน้ำแข็งฝึกมองให้เห็นทั้งสิ่งที่สวยงาม และสิ่งที่ไม่สวยงาม มองลงไปให้ลึก และวิเคราะห์ผ่านการเรียนรู้วิถีชีวิตแบบการพึ่งพาตนเองของคนในชุมชน เพื่อนำสิ่งที่ได้ไปประยุกต์ใช้ต่อเพื่อความอยู่รอดของชุมชน สังคม และตัวนักเรียนทุนฯ เอง ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง

กิจกรรมวันสุดท้าย วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567

เน้นไปที่การทำงานกับตัวอักษรตัวที่สี่ W หรือเจตนาที่จะเลือกวิธีการ ขั้นตอน ระยะเวลา และแนวทาง ที่จะกลับออกไปลงมือทำสิ่งนั้นให้เป็นจริงด้วยตัวเอง เป็นวันที่นักเรียนทุนฯ จะได้ทบทวนประสบการณ์ที่ได้รับตลอดการเรียนรู้ในระยะเวลา 4 วัน ตกผลึกเป็นทางเลือก วิธีการ ขั้นตอน ระยะเวลา และแนวทางที่จะกลับไปเริ่มได้จริงในชุมชนของตนเอง ตามความถนัดความเชี่ยวชาญ สายอาชีพที่เรียนจบมา และต้นทุนทรัพยากรที่ตนเองมีอยู่ และให้นักเรียนทุนฯ ได้ทดลองเขียนโครงการที่สนใจ แนวทางที่จะกลับไปเริ่มได้จริงในชุมชนของตนเอง

และร่วมกันแลกเปลี่ยนเพื่อระดมความคิด หาเครือข่าย โดยมีพี่ ๆ กระบวนกรจากมะขามป้อมที่มีประสบการณ์คอยให้คำปรึกษา ซึ่งหากมีโครงการที่น่าสนใจ และมีความเป็นไปได้ นักเรียนทุนฯ สามารถเขียนโครงการเพื่อยื่นขอการสนับสนุนจาก โครงการทุนการศึกษา บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ นักเรียนทุนฯ ยังได้เขียนการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง และสิ่งที่กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลง รวมถึงยังมีอะไรบ้างที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ก็เพื่อย้ำเตือนว่านักเรียนทุนฯ ทุกคนล้วนมีศักยภาพ มีคุณค่า สามารถพัฒนาได้ และพร้อมที่จะก้าวไปสู่การเปลี่ยนผู้นำการเปลี่ยนแปลง ทั้งในตัวเอง ชุมชน สังคม และประเทศชาติต่อไป


#ค่ายผู้นำการเปลี่ยนแปลง #เชียงดาวนิเวศการเรียนรู้ #ชาร์ปกรุงไทยการไฟฟ้า #กรุงไทยการไฟฟ้า

ก้าวสู่ #สองทศวรรษกับการดำเนินงานเพื่อสังคม ด้านการ #ให้โอกาสทางการศึกษา เพื่อให้เด็กไทยหลุดพ้นความยากจนอย่างยั่งยืน

บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด เราเชื่อว่าการให้การศึกษา คือการมอบโอกาสทั้งชีวิต

.


สร้างภูมิคุ้มกัน ส่งเสริมทักษะการใช้ชีวิต เพื่อเติมเต็มศักยภาพอย่างรอบด้าน สู่การเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด ..

ก้าวสู่สองทศวรรษกับการดำเนินงานเพื่อสังคม ด้านการ ให้โอกาสทางการศึกษา เพื่อให้เด็กไทยหลุดพ้นความยากจนอย่างยั่งยืน

อ่านบทความ และข่าวอื่นๆ ได้ที่ :

https://thaicity4social.com/news-2/

Facebook โครงการทุนการศึกษา :

https://www.facebook.com/ThaicityScholarship/

ติดต่อเรา

บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด

1550 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

02-254-5002

091-119-8101

02-254-5003

เวลาทำการ จันทร์ – ศุกร์ 08.30 – 17.30 น.

(พักเที่ยง 12.00 – 13.00 น.)

© 2020 ThaiCity4Social. All Rights Reserved.

Post Views: 646